เหตุใดจึงมีธนาคารกลาง? : แล้วธนาคารกลางจะปรับตัวอย่างไร (4)

เหตุใดจึงมีธนาคารกลาง? : แล้วธนาคารกลางจะปรับตัวอย่างไร (4)

การเงิน

สุพริศร์ สุวรรณิก สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

หลังจากที่ได้ชวนท่านผู้อ่านไปสำรวจความท้าทายสำคัญๆ ที่ธนาคารกลาง ผู้ได้รับพันธกิจดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนในบทความตอนที่แล้ว และแล้วก็มาถึงตอนสุดท้ายของซีรีส์วิวัฒนาการของธนาคารกลาง ซึ่งถือเป็นบทสรุปว่า ธนาคารกลางควรจะปรับตัวอย่างไรเพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว และธนาคารกลางจำเป็นต้องมีอยู่หรือไม่ ประจวบเหมาะกับการจัดงาน BOT-BIS conference เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้ว่าการธนาคารกลางกว่า 10 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมงานเพื่อหารือการทำหน้าที่ตามพันธกิจหลักของธนาคารกลางท่ามกลางบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลง ผู้เขียนจึงขอนำข้อคิดดีๆ จากงานวันนั้นมาผนวกเข้ากับบทความวันนี้ด้วยครับ

การดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสาธารณชนและเอื้อให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน หลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบกับภาวะเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและผันผวนจากทั้งปัจจัยเชิงวัฏจักร (การขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ) และปัจจัยเชิงโครงสร้าง (เช่น climate shock และ geopolitical risk ดังที่ได้กล่าวในบทความก่อน) ทำให้ธนาคารกลางต้องดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมาย โดยต้องทำความเข้าใจและเตรียมรับมือกับผลกระทบอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะ climate shock ขณะที่การสื่อสารนโยบายที่มีประสิทธิภาพก็เป็นเรื่องสำคัญมาก นอกจากนี้ การผสมผสานระหว่างนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อรักษาสมดุลของการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจคู่กับการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมาย

การดูแลระบบการเงินให้มีเสถียรภาพ โดยเฉพาะจากแผลเป็นที่วิกฤติโควิดได้ทิ้งไว้ เช่น หนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวสูงขึ้น ถือเป็นอีกพันธกิจสำคัญของธนาคารกลางในการดูแลเพื่อไม่ให้ลุกลามเป็นวิกฤติเศรษฐกิจในอนาคต โดยธนาคารกลางจำเป็นต้องมีแนวนโยบายและเครื่องมือที่แก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดและทันท่วงที ที่สำคัญ เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย การประสานงานและร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหลายภาคส่วนมากขึ้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ธนาคารกลางจำเป็นต้องปลูกฝังความรู้ทางการเงิน (financial literacy) ให้กับประชาชนอย่างมีกลยุทธ์และต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้ความมั่นคงทางการเงินของประชาชนเข้มแข็งขึ้นในระยะยาว